Drive your business

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Thailand Fact Sheet: Digital Content Marketing




 Thailand Fact Sheet: Digital Content Marketing
                                                                                                                  เขียนโดย  กอไผ่

                ในโลกที่ทรงพลังด้วยสื่อดิจิตอลทั้งหลาย ทุกวันนี้ คงละสายตาไม่ได้ในกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดที่สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างรวดเร็วและมหาศาล “Content Marketing” ในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่เพียงข้อความทางการตลาดที่สื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือผู้ที่ต้องการจะมาเป็นลูกค้ารายใหม่ หรือผู้ที่สนใจ เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความจงรักภักดีในการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว ในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
                Content Marketing จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เราสามารถแบ่งปันในหัวข้อต่าง ๆ ไปสู่สมาชิก และเป็นสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ข่าว วีดีโอ ไกท์บุ๊ค อีบุ๊ค รูปภาพ คำถามและคำตอบในบทความ หรือกรณีศึกษาต่าง ๆ และ Content ที่เรารู้จักกันในรูปแบบของ Social Media, Search Engine ทั้งหลาย
เราจะเห็นได้ว่า Content หรือ เนื้อหา/ข้อความ ที่เราสนใจนั้น จะเป็นรูปแบบทางการตลาดที่สามารถทำให้ผู้บริโภคเจาะลึกลงไปในข้อมูลที่พวกเขาต้องการ และสามารถจดจำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักการตลาดสามารถพัฒนาสื่อ Content ได้อย่างน่าสนใจ และผูกมัดใจลูกค้า ซึ่งการผูกมัดใจไว้นั้นอาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาทิเช่น จดจำตราสินค้า จงรักภักดีต่อตราสินค้า สร้างลูกค้ารายใหม่ ให้มีปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมในหน้าเว็บไซต์ สร้างยอดขายให้กับธุรกิจ หรือ เป็นธุรกิจ/สินค้าที่ลูกค้านึกถึงก่อน เป็นธุรกิจ/สินค้าที่นึกถึงในเชิงการใช้บริการที่มีคุณภาพ เหล่านี้เป็นต้น
กลยุทธ์คอนเทนท์ (Content Strategy) ในยุคดิจิตอล จึงเกี่ยวข้องกับการวางแผน การพัฒนา และการจัดการเนื้อหาที่ได้ถูกเขียนลงไปในสื่อชนิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนได้แก่ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งสื่อจะต้องมีปรับ/เปลี่ยนแปลงอย่างมากในการนำเสนอข่าวสาร สื่อแขนงต่าง ๆ ได้มีการปรับตัวเองให้อยู่ในยุคดิจิตอล ด้วยการสร้างเว็บไซต์ นำเสนอข่าวสารที่สามารถอ่านได้ง่าย รวดเร็ว และใช้เวลาไม่นานในการอ่าน นอกจากนี้ ข่าวสารแบบฟรี ๆ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงธุรกิจไปยังลูกค้า
การปรับตัวสู่โลกดิจิตอล จึงสามารถสร้างมูลค่าได้  Digital Content จึงเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ในตลาดการค้าที่เป็นแบบสาธารณะ
ฉะนั้น ความพร้อมในการจ่ายเงินของลูกค้า จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาต้องการสินค้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทันที ธุรกิจจึงต้องมองหาวิธีการที่เป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึง Content ต่าง ๆ ได้โดยง่าย อาทิเช่น การส่งต่อข้อมูล/บอกข้อมูลต่อปากต่อปาก การบอกต่อกันเป็นภายภายองค์กร การใช้ช่องทาง Search engine ใช้สื่อแมกกาซีนหรือเว็บไซท์  ใช้การออกงาน Tradeshow จ้างเอเจนซี่โฆษณา ส่งข้อมูลผ่านทางอีเมล์  จ้างที่ปรึกษา หรือจ้างบริษัทค้นหาแบบออนไลน์ และอื่น ๆ
                Pinterest เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Content ซึ่งสมาชิกสามารถอัพโหลดรูปภาพ ของสะสม สิ่งของทุกสิ่งอย่าง บทความ หรือไอเดียการท่องเที่ยวต่าง ๆ ลงไปใน Pinboard หากเรามีภาพสินค้า หรือมีภาพกิจกรรมที่น่าสนใจ และแบ่งปันภาพนั้นใน Pinterest โอกาสที่สมาชิกจะสนใจ และตัดสินใจซื้อสินค้า ก็เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญหากเราลองเปรียบเทียบจากสถิติที่ผ่านมา ระหว่างการซื้อสินค้าจาก Pinterest กับ Facebook ด้วยแล้ว เราจะพบว่าลูกค้า Pinterest มียอดใช้จ่ายต่อสมาชิกมากกว่าของ Facebook ถึงสองเท่า มีอัตราต่อยอดซื้อสินค้าที่มากกว่า Facebook และสามารถเพิ่มจำนวนผู้เข้าเว็บไซต์รายใหม่ได้ดีกว่า

หากเราลองมาพิจารณาความสามารถในการจัดการ Digital Content ออกไปในมุมมองทางสังคมบ้าง ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต การอยู่อาศัย ภูมิปัญญา ต้นไม้ ชายหาด ทะเล หรือแง่มุมที่น่าสนใจของสังคมไทย Digital Content จะมีบทบาทเป็นอย่างมาก ที่สามารถเชื่อมโยงแบ่งปันระหว่างคนในสังคม และผู้คนจากมุมต่าง ๆ ทั่วโลก






Thailand Fact Sheet: Search Engine-Social Network ระดับโลก



 Thailand Fact Sheet: Search Engine-Social Network ระดับโลก
                                                                                                                                      เขียนโดย กอไผ่
                ชีวิตคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน นอกจากจะติดหนิบในเรื่องของเทคโนโลยีข่าวสาร ยามว่างก็จะหยิบโทรศัพท์หรือเครื่องมือเทคโนโลยีมาพูดคุยกันทาง Social Media แสวงหา Application ใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้งาน รวมทั้งแสวงหาข้อมูลที่มีอยู่นับไม่ถ้วนในโลกใบนี้ ซึ่งดู ๆ ไปแล้วข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็มีอยู่จำนวนมากก็สร้างโอกาสในการแสวงหารายได้และสร้างความรู้มากมายให้กับมนุษย์เรา
                แหล่งสืบคืนที่สำคัญระดับโลกในบรรดา Search Engine ทั้งหลาย ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อดีต ในวันนี้ Thailand Fact Sheet จะมา Update กันว่า Search Engine เจ้าไหนกันบ้างที่เป็นยอดนิยมระดับโลก
                จากข้อมูล Search Engine Top 15 อันดับแรกเดือนพฤศจิกายน (1.11.2013) ที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย eBizMBA ซึ่งทำการอัพเดทเว็บไซน์จาก Alexa Global Traffic Rank & U.S. Traffic Rank ผลลัพธ์ 15 อันดับแรกกับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมโดยประมาณเป็นดังต่อไปนี้            
1)            Google (1,000,000,000)
2)            2 Bing (290,000,000)
3)            3 Yahoo’s Search (250,000,000)
4)            Ask (150,000,000)
5)            Aol Search (43,000,000)
6)            MyWebSearch (22,000,000)
7)            WebCrawler (19,700,000)
8)            Wow (11,000,000)
9)            Inforspace (7,500,000)
10)           Dogpile (4,000,000)
11)           DuckDuckGo (2,500,000)
12)           Info (2,200,000)
13)           Lycos (1,600,000)
14)           Excite (1,000,000)
15)           Blekko (900,000)

ส่วนผลการจัดอันดับ Social Network ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 15 อันดับแรกกับจำนวนผู้เยี่ยมชมต่อเดือนโดยประมาณ เป็นดังนี้
1)            Facebook (800,000,000)
2)            Twitter (250,000,000)
3)            LinkedIn (200,000,000)
4)            Pinterest (120,000,000)
5)            MySpace (70,500,000)
6)            Google Plus+ (65,000,000)
7)            Instagram (50,000,000)
8)            DevianArt (25,500,000)
9)            Live Journal (20,500,000)
10)          Tagged          (19,500,000)
11)          Orkut (17,500,000)
12)          CafeMom (12,500,000)
13)          Ning (12,000,000)
14)          Meetup (7,500,000)
15)          myLife (5,400,000)

นับว่าความเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยีช่างเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง สร้างสรรค์ และเป็นไปได้ในอนาคต

Thailand Fact Sheet: ค่าครองชีพที่แท้จริง



 Thailand Fact Sheet: ค่าครองชีพที่แท้จริง
                                                                                                                                      เขียนโดย กอไผ่

หากเราลองให้คำนิยามเกี่ยวกับอัตราค่าครองชีพในปัจจุบันด้วยตัวของเราเอง เราอาจพบว่าคำนิยามในเรื่องอัตราค่าครองชีพของเรามีความแตกต่างจากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐทำการจัดเก็บ เนื่องจากเราจะนำรายจ่ายทุกตัวมาทำการคำนวณ ซึ่งผลลัพธ์อาจขัดแย้งกับอัตราค่าครองชีพที่เป็นอยู่โดยเฉลี่ยจากหน่วยงาน และที่สำคัญรายจ่ายเหล่านั้นอาจไม่สัมพันธ์กับรายได้
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อย่อมส่งผลสอดคล้องไปกับอัตราค่าครองชีพ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมหมายถึงค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการคิดคำนวณด้วยตนเองนั้นดูเหมือนว่าค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมากในความเป็นจริง (บางรายการหน่วยงานภาครัฐไม่ได้นำมาคำนวณ) ดังนั้นค่าครองชีพที่ว่านี้ก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน เนื่องจากค่าครองชีพต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งผู้บริโภคหรือลูกจ้างเป็นผู้แบกภาระรายจ่าย ส่วนรายได้อาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรืออาจกล่าวไปในทิศทางตรงกันข้ามอีกนัยหนึ่งว่า การใช้จ่ายในปัจจุบันฟุ่มเฟือยเกินจริง  จะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องลองมาวิเคราะห์กันดู
สัญญาณเหล่านี้ อาจต้องลองคำนวณดูว่า ค่าครองชีพในปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร โดยเริ่มต้นคำนวณว่าเมืองหรือจังหวัดที่เราอยู่อาศัยนั้นต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าใดสำหรับการอยู่อาศัย เรามีรายรับเท่าใดต่อเดือน และนอกเหนือจากนี้เหลือเท่าใดสำหรับการเก็บและเงินออม
ตัวอย่างการแบ่งหมวดรายจ่าย
พื้นฐานในการคำนวณรายจ่าย อาจเริ่มต้นด้วยการประมาณการ
รายจ่าย 1: ค่าอาหารและเครื่องดื่ม การรับประทานอาหาร 3 มื้อจะถูกนำมาคำนวณ (อาจแยกย่อยเป็นทานในบ้าน, นอกบ้าน, ร้านอาหาร, พร้อมเครื่องดื่ม, น้ำชา กาแฟ เบียร์ และอื่น ๆ)
รายจ่าย 2: ค่าจ่ายตลาด, ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นการคำนวณในกรณีที่ต้องซื้อของจากตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตมาปรุงเป็นอาหาร (ข้าวสาร น้ำมัน พืชผัก ผลไม้ นม ขนมปัง เครื่องปรุง และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ที่สามารถประมาณการได้)
รายจ่าย 3: รายจ่ายสำหรับการเดินทาง เนื่องจากแต่ละเมือง มีอัตราค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน รายจ่ายนี้จะเช่น การเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแท็กซี่ ตั๋วรถไฟ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ฯลฯ
รายจ่าย 4: เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายรายเดือน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา แก๊ส น้ำดื่ม ค่าจัดเก็บขยะสาธารณะ ค่าอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ เคเบิลทีวี ฯลฯ
รายจ่าย 5: ค่ากิจกรรมการกีฬาและบันเทิงอื่น ๆ เช่น การกิจกรรมฟิตเนส ค่าใช้สนามฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส ดูภาพยนตร์ ละครต่าง ๆ
รายจ่าย 6: รายจ่ายแฟชั่นแต่งตัว ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า การดูแลหน้าผม และแอคเซสเซอรี่ต่าง ๆ
รายจ่าย 7: ค่าเช่าทรัพย์สินรายเดือน อาจเป็นค่าเช่าหอพัก ที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว หรือ ภาระต่าง ๆ ที่ต้องผ่อนชำระเป็นรายเดือน ฯลฯ
รายจ่าย 8: รายจ่ายอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรค และรายจ่ายอื่น ๆ
ทั้งหมดนี้โดยรวม จะนำมาทำการเปรียบเทียบกับรายรับทั้งหมด (รายได้จากเงินเดือน รายได้อื่น รวมถึงเงินกู้ยืม) ก็จะทำให้เห็นถึงค่าครองชีพในปัจจุบันที่เราต้องเผชิญอยู่ในแต่ละเดือน ซึ่งการคำนวณที่ว่านี้ เราสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบว่ารายจ่ายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ เมืองที่เราอยู่สามารถเทียบเท่ากับอยู่ในเมืองใดในโลก ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
จากบทสรุปของ The Economist Intelligence Unit ที่ทำการสรุปเรื่อง Worldwide Cost of Living 2013 ได้สรุปเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงสุด และต่ำสุดในโลก จาก 140 เมืองใน 93 ประเทศ ซึ่งทำให้เราตระหนักได้ถึงค่าครองชีพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากเทียบกับระดับโลก
10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงที่สุดในโลกได้แก่ 1) Tokyo, Japan 2) Osaka, Japan 3) Sydney,  Australia 4) Oslo, Norway 5) Melbourne, Australia 6) Singapore, Singapore 7) Zurich, Switzerland 8) Paris, France 9) Caracas, Venezuela 10) Geneva, Switzerland ซึ่งค่าดัชนีอันดับหนึ่งอย่าง Tokyo เป็น 1.52 เท่า ของ New York
ส่วน 10 เมืองที่มีค่าครองชีพต่ำสุด ได้แก่ 1) Tehran, Iran 2) Jeddah, Saudi Arabia 3) Panama city, Panama 4) Colombo, Sri Lanka 5) Bucharest, Romania 6) Algiers, Algeria 7) Kathmandu, Nepal 8) New Delhi, India 9) Mumbai, India 10) Karachi, Pakistan ซึ่งค่าดัชนีอันดับต่ำสุดอย่างเมือง Karachi เป็น 0.44 เท่าของ New York
การจัดอันดับข้างต้นทำการเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งในเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การใช้จ่ายในครัวเรือน รายจ่ายส่วนตัว ค่าเช่า ค่าเดินทาง บิลรายจ่ายส่วนตัวต่าง ๆ ค่าการศึกษา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ดังนั้น เพื่อให้สะท้อนถึงอัตราค่าครองชีพที่แท้จริง คงต้องลองหันทำการสุ่มตัวอย่างทั้งค่าใช้จ่ายที่อยู่ในการควบคุมของภาครัฐ ค่าใช้จ่ายที่กำหนดขึ้นโดยภาคเอกชน และอื่น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงอัตราค่าครองชีพที่แท้จริง และมุมมองของการอยู่อาศัยที่แท้จริงของคนสังคม





Thailand Fact Sheet: เศรษฐกิจการค้าชายแดน




 Thailand Fact Sheet: เศรษฐกิจการค้าชายแดน
                                                                                                                                       เขียนโดย กอไผ่


                การเติบโตของเศรษฐกิจการค้าชายแดน ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นับวันก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ไทยเองจะต้องคว้าเอาไว้ก่อน เพราะด้วยความคึกคักทางการค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศลาว ก็ได้ทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาสาธารณูปโภค ต่าง ๆ และมีแนวโน้ม GDP เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทางด้านเศรษฐกิจของไทย













                จากการสรุปสถิติการค้าชายแดน ของกรมการค้าต่างประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย, เมียนมาร์, สปป.ลาว, กัมพูชา) เรามีมูลค่ารวมลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ประมาณร้อยละ 0.54 (มูลค่ารวม ม.ค.-ส.ค. 606,551 ล้านบาท ซึ่งเราทำการค้ากับมาเลเซียมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 54.59 ของมูลค่ารวม รองลงมาเป็นเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ในสัดส่วน 20.82%, 14.41% และ 10.18% ตามลำดับ
                ภาพรวมสำหรับการส่งออกและนำเข้าทุกประเทศ ทำให้เรามีดุลการค้าแบบเกินดุล มูลค่ารวมทั้งสิ้น 130,070 ล้านบาท ซึ่งเกินดุลการค้ากับ สปป.ลาว 56,653 ล้านบาท กัมพูชา 49,765 ล้านบาท มาเลเซีย 46,813 ล้านบาท ส่วนเมียนมาร์เราขาดดุลการค้ามูลค่า 23,161 ล้านบาท

                สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
                การค้าระหว่างไทยและมาเลเซีย มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ไม้แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดสงขลามากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 98.06 ยะลาร้อยละ 1.48 นราธิวาสร้อยละ 0.36 สตูลร้อยละ 0.03 เป็นต้น
                การค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เบนซิน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ผ้าผืนและด้าย สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดตากมากที่สุด (ร้อยละ 52.76) รองลงมาเป็นระนอง ร้อยละ 27.45 เชียงราย ร้อยละ 17.14 กาญจนบุรี ร้อยละ 2.26 แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 0.22 ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 0.16 เป็นต้น
                การค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เบนซินรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดหนองคายมากที่สุด ร้อยละ 51.26 รองลงมาเป็นอุบลราชธานี ร้อยละ 12.11 มุกดาหาร ร้อยละ 11.05 เชียงราย ร้อยละ 9.91 เลย ร้อยละ 8.59 น่าน ร้อยละ 3.81 นครพนม ร้อยละ 2.21 บึงกาฬ ร้อยละ 1.06 เป็นต้น
                ส่วนการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และมีแอลกอฮอล์ เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ ยานพาหนะ สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดสระแก้วมากที่สุด ร้อยละ 60.27 รองลงมาเป็นตราด ร้อยละ 30.96 จันทบุรี ร้อยละ 5.85 สุรินทร์ ร้อยละ 2.29 อุบลราชธานี ร้อยละ 0.63 เป็นต้น
                อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โดยรวมมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเพื่อนบ้านมีแนวโน้มลดลงในช่วงนี้ แต่การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สัมพันธ์ไปกับความร่วมมือของเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีการส่งเสริมการค้าเสรี การลงทุน ข้อตกลงทางด้านการท่องเที่ยว และความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทย การเตรียมตัวกับสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการควรจะใช้โอกาสนี้ในการเร่งปรับตัว ลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์ และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้มากที่สุด
                

Thailand Fact Sheet: สถานการณ์ข้าวไทยและโลก




 Thailand Fact Sheet: สถานการณ์ข้าวไทยและโลก
                                                                                                                          เขียนโดย กอไผ่

                จากการรายงานสถานการณ์ข้าวไทยและโลก โดยกรมการค้าต่างประเทศในช่วงเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา การผลิตข้าวโลก มีปริมาณ 469 ล้านตันซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปริมาณข้าวข้องประเทศฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนการบริโภคข้าวมีปริมาณลดลงอันเนื่องมาจากอินเดียและสหรัฐฯ บริโภคข้าวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ จึงทำให้สต็อกข้าวปลายปีเพิ่มสูงขึ้น
                การส่งออกข้าวของไทย ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกที่ปริมาณ 8.5 ล้านตัน ตลอดช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนที่ผ่านมา เรามีการส่งออกข้าวเบื้องต้นประมาณ 4.92 ล้านตัน และเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเรื่องของปริมาณ มูลค่า และราคาส่งออก ลดลงร้อยละ 2.2, 2.6 และ 0.4 ตามลำดับ
                ส่วนตัวเลขทางการค้า World Market and Trade โดย UDSA (United States Department of Agriculture) ในเรื่องของราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมามีการแข่งขันในเรื่องของราคามากขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวระหว่างไทยและเวียดนาม เราจะเห็นได้ว่าราคาข้าวของไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่มีช่องว่างห่างจากราคาข้าวของเวียดนาม 5% อยู่ที่ประมาณ $85/ton ซึ่งในเดือนที่ผ่านมานี้ข้าวไทยมีการปรับตัวลดลงกว่า $40/ton ดังภาพ

                สำหรับความเคลื่อนไหวของประเทศผู้ส่งออกข้าวที่มีแนวโน้มส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล ซึ่งบราซิลมีแนวโน้มลดลง 100,000 ตันไปอยู่ที่ 750,000 ตัน ส่วนอินเดียมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มสูงขึ้น 300,000 ตันในปี 2013 และ 2014 ไปอยู่ที่ปริมาณ 10 ล้านตันและ 9.3 ล้านตัน โดยอินเดียได้ทำการค้าข้าวเพิ่มขึ้นกับอิหร่าน
                สำหรับการนำเข้า ผู้นำเข้าอย่างประเทศอิหร่าน ก็เพิ่มการนำเข้าจำนวน 300,000 ตัน ไปแตะที่ปริมาณ 1.8 ล้านตันในปี 2013 และ 2014 โดยนำเข้าข้าวเพิ่มมาจากอินเดีย
                การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีปริมาณลดลง 500,000 ตัน ไปสู่ 1 ล้านตันในปี 2013 อันเนื่องมาจากการส่งสินค้าที่ล่าช้าลงของเวียดนามทำให้เกิดความล่าช้าต่อเนื่องไปถึงปี 2014 ที่จะทำให้การนำเข้ามีปริมาณลดลงอีก 100,000 ตันไปสู่ที่ปริมาณ 1.1 ล้านตัน
                อย่างไรก็ตาม หากทำการสรุปผู้ส่งออกข้าวในปี 2013/2014 แล้ว ปริมาณการค้าข้าวโลก (ณ เดือนกันยายน 2556) 5 อันดับของประเทศที่ส่งออกสูงสุดได้แก่ 1) อินเดีย ปริมาณ 9.3 ล้านตัน 2) ไทย 8 ล้านตัน 3) เวียดนาม 7.8 ล้านตัน 4) ปากีสถาน 3.1 ล้านตัน 5) กัมพูชา 1 ล้านตัน ยอดรวมปริมาณข้าวโลกที่ทำการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 39 ล้านตัน
                ส่วนการนำเข้าของประเทศที่เป็นอันดับ 1-5 ได้แก่ 1) จีน ปริมาณ 3.4 ล้านตัน 2) ไนจีเรีย ปริมาณ 2.4 ล้านตัน 3) อินโดนีเซีย ปริมาณ 1.5 ล้านตัน 4) อิหร่าน ปริมาณ 1.45 ล้านตัน 5) อิรัก ปริมาณ 1.4 ล้านตัน
                ส่วนผลผลิตข้าวโลก สำหรับประเทศที่มีผลผลิตสูงสุด ได้แก่
                จีน  142 ล้านตัน
    อินเดีย  108 ล้านตัน
                อินโดนีเซีย  37.7 ล้านตัน
                บังคลาเทศ  34.2 ล้านตัน
                เวียดนาม 27.67 ล้านตัน
                ไทย 21.1 ล้านตัน
                ฟิลิปปินส์ 11.7 ล้านตัน
                เมียนมาร์ 11 ล้านตัน
                ฯลฯ
                ผลผลิตรวมข้าวโลกอยู่ที่    476.769 ล้านตัน



Thailand Fact Sheet: น้ำตาลกับเศรษฐกิจไทย



 Thailand Fact Sheet: น้ำตาลกับเศรษฐกิจไทย
                                                                                                                              เขียนโดย กอไผ่

                เป็นที่รู้กันดีว่าศักยภาพในการส่งออก (Export) น้ำตาลของประเทศไทยนั้น เราเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล (Brazil) อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมทางด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร และเครื่องดื่ม ก็ทำให้น้ำตาลเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
               

                การขานรับในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเรื่องของการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวในเขตที่ไม่เหมาะสม โดยให้หันมาปลูกอ้อยทดแทนนั้น จึงเป็นโครงการที่น่าจะสอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันไทยผลิตอ้อยได้ประมาณ 10 ล้านตัน (การส่งออกอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ UDSA) การเพิ่มผลผลิตก็จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมทำการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะการปรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหากทำการปลูกอ้อยได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยให้มากขึ้น
                จากข้อมูลสถิติการผลิตน้ำตาลระดับโลกตั้งแต่ปี 2008/2009 เป็นต้นมา เราจะเห็นถึงแนวโน้มของปริมาณการผลิตน้ำตาลว่าเป็นดังนี้ [ที่มา: United States Department of Agriculture: (UDSA)]
               


                การผลิตน้ำตาลสำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มของการส่งออกน้ำตาลในระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังภาพ
                อย่างไรก็ตามศักยภาพในการส่งออกน้ำตาล ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพนั้น ยังคงเป็นจุดเด่นทางด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย การสนับสนุนส่งเสริมและการพัฒนาที่เหมาะสมของหน่วยงานรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้นโยบายนั้น จึงควรสามารถรักษาระดับและศักยภาพในการเป็นผู้นำน้ำตาลในตลาดโลก



Thailand Fact Sheet: ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2556



Thailand Fact Sheet: ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2556
                                                                                                                                         เขียนโดย กอไผ่

                Thailand Fact Sheet ฉบับสัปดาห์นี้ จะทำการ Update ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำการสรุปและรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ อันมีการรายงานข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการดังต่อไปนี้
               

                ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงตามอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก ถึงแม้สินเชื่อจะชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 12.8 จากระดับเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตามภาพรวมก็มีการขยายตัวในอัตราสูง (สัดส่วนร้อยละ 69.9 ของสินเชื่อรวม) การขยายตัวมีอัตราใกล้เคียงกันกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 10.1 คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี NPL อยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองเพิ่มขึ้นมาก กำไรสุทธิอยู่ในระดับสูง ฐานะของเงินกองทุนแข็งแกร่ง
                ธุรกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นธุรกิจอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ส่วนธุรกิจที่ชะลอตัวลง เป็นธุรกิจการเงิน สาธารณูปโภค บริการ อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง โดยสัดส่วนสินเชื่อของการอุปโภคบริโภคในช่วงไตรมาส 2 มีสัดส่วนร้อยละ 30.1 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรม ร้อยละ 20.5 พาณิชย์ ร้อยละ 16.2 และธุรกิจอื่น ๆ ตามลำดับ (ดังภาพ)


                       
                การขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วนร้อยละ 30.1 นี้ แบ่งออกเป็นสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัย ร้อยละ 13.8 รถยนต์ ร้อยละ 8.8 ส่วนบุคคล ร้อยละ 6.0 และบัตรเครดิต ร้อยละ 1.5
                สินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์มีการขยายตัวที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต และบุคคล มีการขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการแข่งขันให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

                อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทย มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (ต่อปี) (NIM) เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 2.63 กำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (ต่อปี) ร้อยละ 2.52 และ กำไรสุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (ต่อปี) (ROA) ร้อยละ 1.52 (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย)

Thailand Fact Sheet: Most valuable brands 2013





Thailand Fact Sheet: Most valuable brands 2013
                                                                                                                                                                เขียนโดย กอไผ่

                สำหรับแบรนด์สินค้าที่ได้รับความนิยม ย่อมส่งผลถึงมูลค่าแบรนด์ที่สูงขึ้น เราจะเห็นว่าการดีดตัวในเรื่องของมูลค่าแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เป็นผลมาจากการได้รับความนิยมหรือความต้องการของลูกค้า ซึ่งธุรกิจเองย่อมมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดในการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์
                สำหรับในปี 2013 นี้ Interbrand ได้ทำการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด ซึ่ง Apple ได้กลายมาเป็นแบรนด์ที่สร้างมูลค่าได้สูงสุดถึง $98 พันล้าน ส่วนแบรนด์อันดับสอง เป็นของ Google และอันดับสามเป็นของ Coca-Cola การไต่อันดับมูลค่าแบรนด์ในช่วงปี 2012 และ 2013 ใน 10 อันดับแรกเป็นดังนี้
                                             ปี 2012                              ปี 2013
1.             Coca-Cola                    Apple
2.             CocaCola.pngApple                             Google
3.             IBM                               Coca-Cola
4.             Google                          IBM
5.             Microsoft                      Microsoft
6.             General Electric         General Electric
7.             McDonald’s                 McDonald’s
8.             Intel                               Samsung
9.             Samsung                      Intel
10.           Toyota                         Toyota

หากเราย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2000 ที่ Interbrand ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเราจะเห็นถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงของมูลค่าแบรนด์ต่าง ๆ โดยปัจจัยที่นำมาใช้ในการวัดผลในเรื่องของมูลค่าแบรนด์ ที่ Interbrand ได้นำมาใช้นั้น มีปัจจัยที่สำคัญในการวิเคราะห์คือ 1) การวิเคราะห์ด้านการเงิน 2) การวิเคราะห์ด้านความต้องการ และ 3) การวิเคราะห์ด้านการแข่งขัน


การวัดผลในเรื่องของมูลค่าแบรนด์ ที่ Interbrand ได้นำมาใช้นั้น มีปัจจัยที่สำคัญในการวิเคราะห์คือ 1) การวิเคราะห์ด้านการเงิน 2) การวิเคราะห์ด้านความต้องการ และ 3) การวิเคราะห์ด้านการแข่งขัน
                การวัดผลทางด้านการเงิน นั้น จะเป็นการวัดกำไรทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Profit) ในมุมมองของการลงทุนกับผลการปฏิบัติงาน/ผลประกอบการ ที่สามารถพยากรณ์ต่อไปได้ในอนาคต
                การวัดผลทางด้านความต้องการ จะคำนึงถึงบทบาทของแบรนด์ (Role of Brand) ซึ่งทำการศึกษาถึงความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค ว่าแบรนด์สามารถกระตุ้นความต้องการหรือเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ อาจเป็นเรื่องของราคา ความสะดวกสบาย รูปลักษณ์ของสินค้า ฯลฯ
                การวัดผลทางด้านการแข่งขัน จะเป็นการวัดถึงจุดแข็งหรือจุดเด่นของแบรนด์ (Brand Strength) ซึ่งสามารถวัดได้ถึงแบรนด์ที่สามารถสร้างความจงรักภักดี สร้างความต้องการ และสร้างผลกำไรในอนาคต ซึ่งการวัดในระดับนี้จะคำนึงถึงปัจจัยภายในองค์กรและภายนอกองค์กร นอกจากนี้ยังวัดถึงปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องของแบรนด์
                นับว่า กว่าจะก้าวมาถึงตำแหน่งที่แบรนด์มีความแข็งแกร่งได้นั้น ต้องใช้กลยุทธ์มากมายที่เป็นองค์ประกอบให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ