Drive your business

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ธุรกิจปรับเข้าสู่โหมดออนไลน์

Thailand Fact Sheet: ธุรกิจปรับเข้าสู่โหมดออนไลน์ (By Korpai)
               มีการพูดคุยเป็นอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในโลก Social Networking ที่ปัจจุบัน ได้แพร่ระบาดไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก สำหรับชีวิตประจำวันของคนไทยเองก็เช่นกัน สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตแพด  ต่าง ๆ ก็เชื่อมต่อตัวเราเองกับผู้คนในหลายชุมชน ตลอดจนบนพื้นที่สาธารณะ
การจัดสรรและแบ่งเวลาในแต่ละวันของผู้คนในปัจจุบัน จึงรวมถึงการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนสื่อสาร กับผู้คน ทั้งที่รู้จักแลไม่รู้จัก อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็น มุมมอง ภาพถ่าย วีดีโอ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็ได้แลกเปลี่ยนกันแล้วเป็นที่เรียบร้อย
สถานการณ์ที่ปรากฏนี้ โลกออนไลน์จึงได้แบ่งช่วงเวลาดังกล่าวของผู้คน และเริ่มดึงช่วงเวลาเหล่านั้นมากขึ้น ๆ โดยการเชื่อมโยงกับเครือข่ายรูปแบบต่าง ๆ หากเราเริ่มต้นถามตัวเราเองในวันนี้ว่าเครื่องมือใดบ้างที่เราเข้าไปเป็นสมาชิก อาจเริ่มต้นจากการสะกดนับ 1 และ 2, 3, 4, 5….และต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
การค้นหาสิ่งต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ จึงมีคำตอบมากกว่าคิดไว้ ในขณะเดียวกันบางคนอาจเริ่มหลงลืมไปแล้วว่า เครือข่ายหลายรูปแบบที่ตนเองได้ใช้ เริ่มทยอยลบหายไป เนื่องจากตนเองหลงลืมไปบ้างแล้ว แต่สำหรับบางคนต้องพกสมุดจดบันทึกเล่มเล็ก ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียและอาการหลงลืมที่อาจเกิดขึ้นได้
ธุรกิจในปัจจุบันจึงทะยอยปรับเข้าสู่โหมดออนไลน์ ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่มีมากมายที่สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจได้ การเลือกเข้าสู่ช่องออนไลน์ จึงเรียกได้ว่า เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งช่องทางต่าง ๆ ที่ว่านี้ได้แก่

ช่องทางการลงทุนใน Social Media ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปเสียแล้ว ธุรกิจจำเป็นต้องจัดสรรเงินลงทุนสำหรับ Social Media ไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่สาธารณะ ที่สำคัญแนวโน้มการใช้เครื่องมือนี้ เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ ที่สามารถสร้างรายได้ ผลกำไร และอาจเป็นกลยุทธ์ในการคัดสรรพนักงาน จากทั่วโลกในอนาคต ซึ่งมีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างมาก นอกจากนี้
การตัดสินใจใช้ Social Media มีมุมมองที่หลากหลายของผู้ที่ต้องการใช้ ซึ่งได้แก่ เพิ่มการรับรู้ในเรื่องของแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ รู้จักแบรนด์มากขึ้น สร้างการขับเคลื่อนด้วยวิธีการโฆษณาแบบปากต่อปากจากผู้ใช้ เพิ่มความไว้วางใจและความจงรักภักดีของลูกค้า เป็นการกระตุ้นหรือเพิ่มในสิ่งใหม่ ๆ ที่ผู้บริโภคกำลังค้นหา ฯลฯ

การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายรูปภาพ เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการแบ่งปันภาพถ่ายและวีดีโอต่าง ๆ เป็นจำนวนมากนอกเหนือจากการแบ่งปันแบบข้อความ ซึ่งบางรูปภาพสามารถโดนใจผู้ได้รับชมโดยตรงและสามารถจดจำได้ Social Network อย่าง Penterest จึงกลายเป็นแหล่งค้าปลีกระดับโลก ที่บรรดาผู้หญิงจากทั่วโลก (women’s only theme) ต่างมาเปิดร้านและสร้างเครือข่ายทางการค้า นอกจากการแบ่งปันจะเป็นในลักษณะ Image แล้ว ยังมีการแบ่งปันในลักษณะ Slideshare, Tumblr, Path, Mobli และอื่น ๆ ซึ่งเป็น Content Marketing ที่แข็งแกร่งเลยทีเดียว

ตัวเลขสถิติรายได้ ที่เกิดจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับการดาวน์โหลด ที่ผ่านมาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ในช่วง Q2 ปี 2013 ที่ผ่านมา พบว่าการดาวน์โหลดแอพ ซึ่งเป็นของ Google (Play Store) มีการดาวน์โหลดมากกว่าของ Apple (App Store) มากกว่าประมาณ 10% และหากมองที่ยอดรายได้ ยอดรายได้ของ App Store มีมากกว่า Play Store อยู่ 2.3 เท่า (ที่มาสถิติ: App Annie)

ส่วนสถิติรายได้ของผู้พัฒนาเกมส์ต่าง ๆ และช่องทางในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอื่น ๆ ก็จะเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มการทำธุรกิจในปัจจุบัน (ตัวอย่างสถิติของอเมริกา)



E-book ไอเดียใหม่กับการสร้างรายได้ออนไลน์

Thailand Fact Sheet: 
E-book ไอเดียใหม่กับการสร้างรายได้ออนไลน์  (By Korpai)


                 เดี๋ยวนี้ ด้วย Lifestyle ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับคนยุคใหม่ เรารู้จักวิธีการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารมากขึ้น และเราสามารถสร้างรายได้จากแหล่งข้อมูล ความรู้ Know How ต่าง ๆ ชนิดที่เรียกว่า จากทั่วโลกเลยก็ว่าได้
                Lifestyle ที่เปลี่ยนแปลงนี้ จึงทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม จึงเกิดขึ้นในโลกออนไลน์
การอ่านหนังสือสมัยใหม่ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหยิบและซื้อหนังสือเล่มจริงออกมาจากร้านหนังสือ เพียงแค่ทำการอ่านผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยี ก็มือหนังสือให้เราอ่านแบบฟรี ๆ เป็นหมื่น ๆ เล่ม
E-book ที่วางขายกันในโลกออนไลน์ ผู้ซื้อสามารถจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยเมื่อต้องการอ่านในเนื้อหา ผ่านอุปกรณ์ที่เราสามารถใช้ในการอ่านได้ อาทิ  Android, iPad, iPhone, iPod, Laptop และ Desktop ต่าง ๆ รวมไปถึงเราสามารถติดตามผลงานของนักเขียนที่เราชื่นชอบหรือกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ได้โดยง่าย
                E-book หรือที่เราเรียกว่า  Electronic Book นี้ จึงเป็น file เอกสารประเภทหนึ่งที่ใช้ในการอ่านหนังสือเสมือนหนังสือจริงได้ในทุกที่ ในปัจจุบันมีได้มีเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการในรูปแบบออนไลน์นี้ และเปิดโอกาสให้นักเขียนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ สามารถจำหน่าย จ่าย แจก และรับส่งผลงานได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
                องค์ประกอบในหนังสือ E-book จึงเป็นเหมือนกับหนังสือจริงที่มีตั้งแต่ หน้าปก คำนำ สารบัญ และเนื้อหาที่แยกออกมาเป็นส่วนต่าง ๆ ซึ่งแหล่ง Download อีบุ๊คที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ebook.in.th, thaiebook.org นอกจากนี้ยังมีแหล่ง Download อื่น ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่อาศัยโปรแกรมไว้สำหรับอ่านอีบุ๊ค ซึ่งได้แก่ Acrobate, Foxit Reader, Plakat eBook Reader for Windows, I love library Viewer, Ebook for Kindle และอื่น ๆ
                ฉะนั้น วิธีการสร้างรายได้สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติมไปทีละเล็กละน้อย E-book จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแสวงหารายได้ได้เป็นอย่างดีสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
ความแตกต่างของการประยุกต์เทคโนโลยี จึงเปิดโอกาสให้มีทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับการเขียนหนังสือ ซึ่งจากเดิมนักเขียนจะมีรายได้จากการเขียนในสัดส่วนที่ต่ำ เนื่องจากรายได้จากการเขียนจะถูกแบ่งออกไปเป็นสัดส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า สำนักพิมพ์ และนักเขียน แต่การเขียน E-book Online ผลตอบแทนที่ผู้เขียนผลงานจะได้รับมีสัดส่วนค่าตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งนักเขียนสามารถสร้างรายได้จากการเขียนนั้นโดยตรง หรือมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ให้กับเว็บไซต์ที่รับฝากขายอีบุ๊ค
นอกจากนี้ สำหรับกลยุทธ์ในการตั้งราคา หากทำการเปรียบเทียบกับหนังสือจริงแล้ว E-book จะมีราคาขายที่ต่ำกว่า และสามารถวางขายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
                ปัจจุบัน อีบุ๊ค จึงมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย เน้นการใช้งานที่ง่ายผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต อีบุ๊ค file มีทั้งแบบง่าย เช่น file เป็นแบบ pdf ที่มีขนาดเล็ก สามารถอ่านได้ง่าย และง่ายต่อการพิมพ์ลงบนกระดาษ และอีบุ๊คแบบมัลติมีเดีย  ที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้อ่านมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น ภาพ ความเคลื่อนไหว เสียง และการออกแบบงานที่มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
                การสร้างรายได้จากการขาย E-book ในไทย จึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเขียนในการแสวงหารายได้ โดยเฉพาะตลาดในเมืองไทย อีบุ๊คที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ นวนิยาย งานเขียนประเภท How to และงานเขียนที่ค่อนข้างมีความเป็นเอกลักษณ์ มีความแตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่น และงานเขียนที่สร้างสรรค์ ซึ่ง E-book บางเล่มถึงแม้จะมีขนาดเล็ก เช่น อาจมีงานเขียนไม่เกิน 30 หน้า แต่ก็สามารถสร้างยอดขายกันได้หลายหลักเลยทีเดียว
                นับว่าเป็นธุรกิจ สำหรับ Home Entrepreneur ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในยุคนี้
                 

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นักช้อปปิ้งออนไลน์

ติดตามเป็นแฟนผลงานการเขียนได้ที่ ebooks

 Thailand Fact Sheet: นักช้อปปิ้งออนไลน์

                                                                                                                   เขียนโดย กอไผ่

เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ก็ใกล้จะมาถึง เราเริ่มเห็นว่า บรรยากาศในบ้านเราทุกวันนี้เวลามีงานเทศกาลก็มักจะคึกคัก และมีสีสัน คนไทยเองก็มีกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และญาติมิตรสหายต่าง ๆ และบรรยากาศโดยรอบก็จะพบเจอกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จากทั่วโลกเลยทีเดียวก็ว่าได้ที่เข้ามาเที่ยวชมเมืองไทย

นอกจากบรรยากาศท่องเที่ยวที่ดูมีชีวิตชีวาในช่วงเทศกาลแล้ว ยังมีความคึกคักของนักช้อปสินค้าทั้งหลาย สินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะของขวัญชิ้นพิเศษในช่วงเทศกาล ก็เริ่มวางเรียงราย ให้ลูกค้าได้เลือกเป็นของขวัญ และที่สำคัญหากผู้ซื้อ เลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกใจในราคาไม่แพงด้วยแล้ว ก็จัดได้ว่ามีความเป็นมืออาชีพในการซื้อสินค้า ช้อปได้อย่างคุ้มค่า คุ้มราคา และเหมาะสมกับการเป็นผู้ให้

การวางแผนช้อปปิ้งกันล่วงหน้าเพื่อเตรียมของขวัญชิ้นพิเศษ จึงมีความสำคัญ และการซื้อที่ประหยัด มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม ก็ล้วนเป็นความสำเร็จในการเลือกซื้อสินค้า

                ปัจจุบันทางเลือกในการซื้อขายจึงมีหลากหลาย นอกจากการเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ แล้ว ยังมีการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ นักช้อปออนไลน์นับวันก็มีจำนวนผู้ที่เข้าเป็นสมาชิกมากขึ้น ปริมาณการเข้าชมสินค้าในเว็บไซน์ต่าง ๆ จึงมีมากขึ้น และโอกาสในการซื้อขายสินค้าก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

บรรยากาศในการเลือกซื้อสินค้า จึงท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำการทดลองซื้อขาย เราสามารถซื้อขายสินค้าได้ทุกที ทุกเวลา ซึ่งอาศัยเพียงเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการซื้อขาย

การเข้าสู่โลกออนไลน์ และซื้อสินค้าออนไลน์ จึงมีหลาย ๆ เหตุผลที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อโดยที่มิได้สัมผัสสินค้าจริง ซึ่งเหตุผลที่ว่านี้ อาทิเช่น

·       มีสินค้าให้เลือกหลายหลาย สินค้านับหมื่น ๆ ชิ้น ในแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ จากทั่วโลก

·       มีการจัดโปรโมชั่นและส่งเสริมการขาย ซึ่งทำให้ได้ราคาพิเศษที่ถูกกว่าราคาซื้อขายทั่วไป

·       สามารถเปรียบเทียบสินค้าชนิดเดียวกัน ในหลาย ๆ ร้านค้า ในราคาที่แตกต่าง

·       ลูกค้าได้รับข้อเสนอที่ดีจากร้านค้า เช่น ได้ส่วนลดพิเศษ

·       มีภาพสินค้า รายละเอียด สีสัน และขนาดของสินค้า ให้เลือก

·       ราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายตามท้องตลาด

·       หากคุ้นเคยกับแบรนด์สินค้าเป็นอย่างดีแล้ว ลูกค้าสามารถเลือกซื้อออนไลน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

·       ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าที่แตกต่าง ไม่ซ้ำใคร เนื่องจากเป็นสินค้าที่คัดสรรมาจากนานาประเทศ

·       มีระบบการจ่ายเงินรองรับ เช่น จ่ายผ่านบัตรเครดิต จ่ายผ่าน Internet Banking หรือ E-currency ทั้งหลาย

·       ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ง่ายในขั้นตอนเดียว และสินค้าจะส่งตรงถึงบ้านได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา เป็นต้น

·       ลูกค้าสามารถสื่อสาร และติดต่อกับร้านค้าได้โดยตรง

·       เป็นร้านค้าที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าออนไลน์ก็มีข้อเสียที่สำคัญ เช่น

·       ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าก่อน ดังนั้น ลูกค้าจึงจ่ายเงินทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับสินค้า และมีระยะเวลารอคอยในการรับสินค้า ซึ่งบางร้านใช้ระยะเวลานานในการขนส่งสินค้า (ในปัจจุบันเริ่มมีบางร้านค้าที่ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าก่อน และจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้า)

·       หากไม่ได้รับสินค้าตามสั่งซื้อ จะทำให้ลูกค้าสูญเสียเวลาในการติดตามทวงถามสินค้า หรือแจ้งการขอรับเงินคืนค่าสินค้าผ่านระบบ

·       หากทำการซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลวกหลวงให้จ่ายเงินซื้อขายสินค้า

·       เนื่องจากมาตรฐานของแต่ละร้านค้าในตลาดออนไลน์แตกต่างกัน การซื้อสินค้าจากภาพถ่ายสินค้า (ที่บิดเบือนจากของจริง) อาจทำให้ไม่ได้รับสินค้าตามที่ต้องการ

·       ผู้ซื้อต้องแน่ใจว่าการช้อปปิ้งออนไลน์นั้นปลอดภัย โดยเฉพาะการเลือกใช้เครดิตการ์ดในการจ่ายเงิน หรือการเลือกช่องทางอื่น ๆ ในการจ่ายเงิน

จากสถิติที่เพิ่มขึ้นของคนไทยในการใช้อินเตอร์เน็ต จึงสามารถนำมาประยุกต์เป็นธุรกิจซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ (E-commerce) ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า นักช้อปออนไลน์จากทั่วโลก นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และธุรกิจนี้นอกจากเป็นธุรกิจที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ลงทุนไม่มากแล้ว ยังไม่ต้องใช้เงินจ้างคนมาก จ่ายค่าเช่า หาทำเลร้านค้า หรือจัดการหน้าร้านจริง แต่มีร้านค้าที่อยู่ในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น    

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Thailand Fact Sheet: Digital Content Marketing




 Thailand Fact Sheet: Digital Content Marketing
                                                                                                                  เขียนโดย  กอไผ่

                ในโลกที่ทรงพลังด้วยสื่อดิจิตอลทั้งหลาย ทุกวันนี้ คงละสายตาไม่ได้ในกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดที่สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างรวดเร็วและมหาศาล “Content Marketing” ในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่เพียงข้อความทางการตลาดที่สื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือผู้ที่ต้องการจะมาเป็นลูกค้ารายใหม่ หรือผู้ที่สนใจ เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความจงรักภักดีในการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว ในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
                Content Marketing จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เราสามารถแบ่งปันในหัวข้อต่าง ๆ ไปสู่สมาชิก และเป็นสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ข่าว วีดีโอ ไกท์บุ๊ค อีบุ๊ค รูปภาพ คำถามและคำตอบในบทความ หรือกรณีศึกษาต่าง ๆ และ Content ที่เรารู้จักกันในรูปแบบของ Social Media, Search Engine ทั้งหลาย
เราจะเห็นได้ว่า Content หรือ เนื้อหา/ข้อความ ที่เราสนใจนั้น จะเป็นรูปแบบทางการตลาดที่สามารถทำให้ผู้บริโภคเจาะลึกลงไปในข้อมูลที่พวกเขาต้องการ และสามารถจดจำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักการตลาดสามารถพัฒนาสื่อ Content ได้อย่างน่าสนใจ และผูกมัดใจลูกค้า ซึ่งการผูกมัดใจไว้นั้นอาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาทิเช่น จดจำตราสินค้า จงรักภักดีต่อตราสินค้า สร้างลูกค้ารายใหม่ ให้มีปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมในหน้าเว็บไซต์ สร้างยอดขายให้กับธุรกิจ หรือ เป็นธุรกิจ/สินค้าที่ลูกค้านึกถึงก่อน เป็นธุรกิจ/สินค้าที่นึกถึงในเชิงการใช้บริการที่มีคุณภาพ เหล่านี้เป็นต้น
กลยุทธ์คอนเทนท์ (Content Strategy) ในยุคดิจิตอล จึงเกี่ยวข้องกับการวางแผน การพัฒนา และการจัดการเนื้อหาที่ได้ถูกเขียนลงไปในสื่อชนิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนได้แก่ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งสื่อจะต้องมีปรับ/เปลี่ยนแปลงอย่างมากในการนำเสนอข่าวสาร สื่อแขนงต่าง ๆ ได้มีการปรับตัวเองให้อยู่ในยุคดิจิตอล ด้วยการสร้างเว็บไซต์ นำเสนอข่าวสารที่สามารถอ่านได้ง่าย รวดเร็ว และใช้เวลาไม่นานในการอ่าน นอกจากนี้ ข่าวสารแบบฟรี ๆ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงธุรกิจไปยังลูกค้า
การปรับตัวสู่โลกดิจิตอล จึงสามารถสร้างมูลค่าได้  Digital Content จึงเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ในตลาดการค้าที่เป็นแบบสาธารณะ
ฉะนั้น ความพร้อมในการจ่ายเงินของลูกค้า จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาต้องการสินค้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทันที ธุรกิจจึงต้องมองหาวิธีการที่เป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึง Content ต่าง ๆ ได้โดยง่าย อาทิเช่น การส่งต่อข้อมูล/บอกข้อมูลต่อปากต่อปาก การบอกต่อกันเป็นภายภายองค์กร การใช้ช่องทาง Search engine ใช้สื่อแมกกาซีนหรือเว็บไซท์  ใช้การออกงาน Tradeshow จ้างเอเจนซี่โฆษณา ส่งข้อมูลผ่านทางอีเมล์  จ้างที่ปรึกษา หรือจ้างบริษัทค้นหาแบบออนไลน์ และอื่น ๆ
                Pinterest เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Content ซึ่งสมาชิกสามารถอัพโหลดรูปภาพ ของสะสม สิ่งของทุกสิ่งอย่าง บทความ หรือไอเดียการท่องเที่ยวต่าง ๆ ลงไปใน Pinboard หากเรามีภาพสินค้า หรือมีภาพกิจกรรมที่น่าสนใจ และแบ่งปันภาพนั้นใน Pinterest โอกาสที่สมาชิกจะสนใจ และตัดสินใจซื้อสินค้า ก็เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญหากเราลองเปรียบเทียบจากสถิติที่ผ่านมา ระหว่างการซื้อสินค้าจาก Pinterest กับ Facebook ด้วยแล้ว เราจะพบว่าลูกค้า Pinterest มียอดใช้จ่ายต่อสมาชิกมากกว่าของ Facebook ถึงสองเท่า มีอัตราต่อยอดซื้อสินค้าที่มากกว่า Facebook และสามารถเพิ่มจำนวนผู้เข้าเว็บไซต์รายใหม่ได้ดีกว่า

หากเราลองมาพิจารณาความสามารถในการจัดการ Digital Content ออกไปในมุมมองทางสังคมบ้าง ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต การอยู่อาศัย ภูมิปัญญา ต้นไม้ ชายหาด ทะเล หรือแง่มุมที่น่าสนใจของสังคมไทย Digital Content จะมีบทบาทเป็นอย่างมาก ที่สามารถเชื่อมโยงแบ่งปันระหว่างคนในสังคม และผู้คนจากมุมต่าง ๆ ทั่วโลก






Thailand Fact Sheet: Search Engine-Social Network ระดับโลก



 Thailand Fact Sheet: Search Engine-Social Network ระดับโลก
                                                                                                                                      เขียนโดย กอไผ่
                ชีวิตคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน นอกจากจะติดหนิบในเรื่องของเทคโนโลยีข่าวสาร ยามว่างก็จะหยิบโทรศัพท์หรือเครื่องมือเทคโนโลยีมาพูดคุยกันทาง Social Media แสวงหา Application ใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้งาน รวมทั้งแสวงหาข้อมูลที่มีอยู่นับไม่ถ้วนในโลกใบนี้ ซึ่งดู ๆ ไปแล้วข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็มีอยู่จำนวนมากก็สร้างโอกาสในการแสวงหารายได้และสร้างความรู้มากมายให้กับมนุษย์เรา
                แหล่งสืบคืนที่สำคัญระดับโลกในบรรดา Search Engine ทั้งหลาย ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อดีต ในวันนี้ Thailand Fact Sheet จะมา Update กันว่า Search Engine เจ้าไหนกันบ้างที่เป็นยอดนิยมระดับโลก
                จากข้อมูล Search Engine Top 15 อันดับแรกเดือนพฤศจิกายน (1.11.2013) ที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย eBizMBA ซึ่งทำการอัพเดทเว็บไซน์จาก Alexa Global Traffic Rank & U.S. Traffic Rank ผลลัพธ์ 15 อันดับแรกกับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมโดยประมาณเป็นดังต่อไปนี้            
1)            Google (1,000,000,000)
2)            2 Bing (290,000,000)
3)            3 Yahoo’s Search (250,000,000)
4)            Ask (150,000,000)
5)            Aol Search (43,000,000)
6)            MyWebSearch (22,000,000)
7)            WebCrawler (19,700,000)
8)            Wow (11,000,000)
9)            Inforspace (7,500,000)
10)           Dogpile (4,000,000)
11)           DuckDuckGo (2,500,000)
12)           Info (2,200,000)
13)           Lycos (1,600,000)
14)           Excite (1,000,000)
15)           Blekko (900,000)

ส่วนผลการจัดอันดับ Social Network ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 15 อันดับแรกกับจำนวนผู้เยี่ยมชมต่อเดือนโดยประมาณ เป็นดังนี้
1)            Facebook (800,000,000)
2)            Twitter (250,000,000)
3)            LinkedIn (200,000,000)
4)            Pinterest (120,000,000)
5)            MySpace (70,500,000)
6)            Google Plus+ (65,000,000)
7)            Instagram (50,000,000)
8)            DevianArt (25,500,000)
9)            Live Journal (20,500,000)
10)          Tagged          (19,500,000)
11)          Orkut (17,500,000)
12)          CafeMom (12,500,000)
13)          Ning (12,000,000)
14)          Meetup (7,500,000)
15)          myLife (5,400,000)

นับว่าความเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยีช่างเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง สร้างสรรค์ และเป็นไปได้ในอนาคต

Thailand Fact Sheet: ค่าครองชีพที่แท้จริง



 Thailand Fact Sheet: ค่าครองชีพที่แท้จริง
                                                                                                                                      เขียนโดย กอไผ่

หากเราลองให้คำนิยามเกี่ยวกับอัตราค่าครองชีพในปัจจุบันด้วยตัวของเราเอง เราอาจพบว่าคำนิยามในเรื่องอัตราค่าครองชีพของเรามีความแตกต่างจากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐทำการจัดเก็บ เนื่องจากเราจะนำรายจ่ายทุกตัวมาทำการคำนวณ ซึ่งผลลัพธ์อาจขัดแย้งกับอัตราค่าครองชีพที่เป็นอยู่โดยเฉลี่ยจากหน่วยงาน และที่สำคัญรายจ่ายเหล่านั้นอาจไม่สัมพันธ์กับรายได้
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อย่อมส่งผลสอดคล้องไปกับอัตราค่าครองชีพ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมหมายถึงค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการคิดคำนวณด้วยตนเองนั้นดูเหมือนว่าค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมากในความเป็นจริง (บางรายการหน่วยงานภาครัฐไม่ได้นำมาคำนวณ) ดังนั้นค่าครองชีพที่ว่านี้ก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน เนื่องจากค่าครองชีพต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งผู้บริโภคหรือลูกจ้างเป็นผู้แบกภาระรายจ่าย ส่วนรายได้อาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรืออาจกล่าวไปในทิศทางตรงกันข้ามอีกนัยหนึ่งว่า การใช้จ่ายในปัจจุบันฟุ่มเฟือยเกินจริง  จะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องลองมาวิเคราะห์กันดู
สัญญาณเหล่านี้ อาจต้องลองคำนวณดูว่า ค่าครองชีพในปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร โดยเริ่มต้นคำนวณว่าเมืองหรือจังหวัดที่เราอยู่อาศัยนั้นต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าใดสำหรับการอยู่อาศัย เรามีรายรับเท่าใดต่อเดือน และนอกเหนือจากนี้เหลือเท่าใดสำหรับการเก็บและเงินออม
ตัวอย่างการแบ่งหมวดรายจ่าย
พื้นฐานในการคำนวณรายจ่าย อาจเริ่มต้นด้วยการประมาณการ
รายจ่าย 1: ค่าอาหารและเครื่องดื่ม การรับประทานอาหาร 3 มื้อจะถูกนำมาคำนวณ (อาจแยกย่อยเป็นทานในบ้าน, นอกบ้าน, ร้านอาหาร, พร้อมเครื่องดื่ม, น้ำชา กาแฟ เบียร์ และอื่น ๆ)
รายจ่าย 2: ค่าจ่ายตลาด, ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นการคำนวณในกรณีที่ต้องซื้อของจากตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตมาปรุงเป็นอาหาร (ข้าวสาร น้ำมัน พืชผัก ผลไม้ นม ขนมปัง เครื่องปรุง และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ที่สามารถประมาณการได้)
รายจ่าย 3: รายจ่ายสำหรับการเดินทาง เนื่องจากแต่ละเมือง มีอัตราค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน รายจ่ายนี้จะเช่น การเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแท็กซี่ ตั๋วรถไฟ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ฯลฯ
รายจ่าย 4: เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายรายเดือน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา แก๊ส น้ำดื่ม ค่าจัดเก็บขยะสาธารณะ ค่าอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ เคเบิลทีวี ฯลฯ
รายจ่าย 5: ค่ากิจกรรมการกีฬาและบันเทิงอื่น ๆ เช่น การกิจกรรมฟิตเนส ค่าใช้สนามฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส ดูภาพยนตร์ ละครต่าง ๆ
รายจ่าย 6: รายจ่ายแฟชั่นแต่งตัว ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า การดูแลหน้าผม และแอคเซสเซอรี่ต่าง ๆ
รายจ่าย 7: ค่าเช่าทรัพย์สินรายเดือน อาจเป็นค่าเช่าหอพัก ที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว หรือ ภาระต่าง ๆ ที่ต้องผ่อนชำระเป็นรายเดือน ฯลฯ
รายจ่าย 8: รายจ่ายอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรค และรายจ่ายอื่น ๆ
ทั้งหมดนี้โดยรวม จะนำมาทำการเปรียบเทียบกับรายรับทั้งหมด (รายได้จากเงินเดือน รายได้อื่น รวมถึงเงินกู้ยืม) ก็จะทำให้เห็นถึงค่าครองชีพในปัจจุบันที่เราต้องเผชิญอยู่ในแต่ละเดือน ซึ่งการคำนวณที่ว่านี้ เราสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบว่ารายจ่ายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ เมืองที่เราอยู่สามารถเทียบเท่ากับอยู่ในเมืองใดในโลก ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
จากบทสรุปของ The Economist Intelligence Unit ที่ทำการสรุปเรื่อง Worldwide Cost of Living 2013 ได้สรุปเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงสุด และต่ำสุดในโลก จาก 140 เมืองใน 93 ประเทศ ซึ่งทำให้เราตระหนักได้ถึงค่าครองชีพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากเทียบกับระดับโลก
10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงที่สุดในโลกได้แก่ 1) Tokyo, Japan 2) Osaka, Japan 3) Sydney,  Australia 4) Oslo, Norway 5) Melbourne, Australia 6) Singapore, Singapore 7) Zurich, Switzerland 8) Paris, France 9) Caracas, Venezuela 10) Geneva, Switzerland ซึ่งค่าดัชนีอันดับหนึ่งอย่าง Tokyo เป็น 1.52 เท่า ของ New York
ส่วน 10 เมืองที่มีค่าครองชีพต่ำสุด ได้แก่ 1) Tehran, Iran 2) Jeddah, Saudi Arabia 3) Panama city, Panama 4) Colombo, Sri Lanka 5) Bucharest, Romania 6) Algiers, Algeria 7) Kathmandu, Nepal 8) New Delhi, India 9) Mumbai, India 10) Karachi, Pakistan ซึ่งค่าดัชนีอันดับต่ำสุดอย่างเมือง Karachi เป็น 0.44 เท่าของ New York
การจัดอันดับข้างต้นทำการเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งในเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การใช้จ่ายในครัวเรือน รายจ่ายส่วนตัว ค่าเช่า ค่าเดินทาง บิลรายจ่ายส่วนตัวต่าง ๆ ค่าการศึกษา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ดังนั้น เพื่อให้สะท้อนถึงอัตราค่าครองชีพที่แท้จริง คงต้องลองหันทำการสุ่มตัวอย่างทั้งค่าใช้จ่ายที่อยู่ในการควบคุมของภาครัฐ ค่าใช้จ่ายที่กำหนดขึ้นโดยภาคเอกชน และอื่น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงอัตราค่าครองชีพที่แท้จริง และมุมมองของการอยู่อาศัยที่แท้จริงของคนสังคม





Thailand Fact Sheet: เศรษฐกิจการค้าชายแดน




 Thailand Fact Sheet: เศรษฐกิจการค้าชายแดน
                                                                                                                                       เขียนโดย กอไผ่


                การเติบโตของเศรษฐกิจการค้าชายแดน ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นับวันก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ไทยเองจะต้องคว้าเอาไว้ก่อน เพราะด้วยความคึกคักทางการค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศลาว ก็ได้ทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาสาธารณูปโภค ต่าง ๆ และมีแนวโน้ม GDP เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทางด้านเศรษฐกิจของไทย













                จากการสรุปสถิติการค้าชายแดน ของกรมการค้าต่างประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย, เมียนมาร์, สปป.ลาว, กัมพูชา) เรามีมูลค่ารวมลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ประมาณร้อยละ 0.54 (มูลค่ารวม ม.ค.-ส.ค. 606,551 ล้านบาท ซึ่งเราทำการค้ากับมาเลเซียมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 54.59 ของมูลค่ารวม รองลงมาเป็นเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ในสัดส่วน 20.82%, 14.41% และ 10.18% ตามลำดับ
                ภาพรวมสำหรับการส่งออกและนำเข้าทุกประเทศ ทำให้เรามีดุลการค้าแบบเกินดุล มูลค่ารวมทั้งสิ้น 130,070 ล้านบาท ซึ่งเกินดุลการค้ากับ สปป.ลาว 56,653 ล้านบาท กัมพูชา 49,765 ล้านบาท มาเลเซีย 46,813 ล้านบาท ส่วนเมียนมาร์เราขาดดุลการค้ามูลค่า 23,161 ล้านบาท

                สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
                การค้าระหว่างไทยและมาเลเซีย มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ไม้แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดสงขลามากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 98.06 ยะลาร้อยละ 1.48 นราธิวาสร้อยละ 0.36 สตูลร้อยละ 0.03 เป็นต้น
                การค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เบนซิน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ผ้าผืนและด้าย สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดตากมากที่สุด (ร้อยละ 52.76) รองลงมาเป็นระนอง ร้อยละ 27.45 เชียงราย ร้อยละ 17.14 กาญจนบุรี ร้อยละ 2.26 แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 0.22 ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 0.16 เป็นต้น
                การค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เบนซินรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดหนองคายมากที่สุด ร้อยละ 51.26 รองลงมาเป็นอุบลราชธานี ร้อยละ 12.11 มุกดาหาร ร้อยละ 11.05 เชียงราย ร้อยละ 9.91 เลย ร้อยละ 8.59 น่าน ร้อยละ 3.81 นครพนม ร้อยละ 2.21 บึงกาฬ ร้อยละ 1.06 เป็นต้น
                ส่วนการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และมีแอลกอฮอล์ เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ ยานพาหนะ สินค้าส่งออกผ่านจังหวัดสระแก้วมากที่สุด ร้อยละ 60.27 รองลงมาเป็นตราด ร้อยละ 30.96 จันทบุรี ร้อยละ 5.85 สุรินทร์ ร้อยละ 2.29 อุบลราชธานี ร้อยละ 0.63 เป็นต้น
                อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โดยรวมมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเพื่อนบ้านมีแนวโน้มลดลงในช่วงนี้ แต่การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สัมพันธ์ไปกับความร่วมมือของเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีการส่งเสริมการค้าเสรี การลงทุน ข้อตกลงทางด้านการท่องเที่ยว และความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทย การเตรียมตัวกับสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการควรจะใช้โอกาสนี้ในการเร่งปรับตัว ลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์ และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้มากที่สุด